Bangkok, January 23, 2011

การเลือกตั้งไทย – ทางเลือกที่น่าเศร้า


On Wednesday, I published an article for Foreign Policy on the leaked U.S. embassy cables and what lessons we can learn from them about what may happen after the elections. This has now been very kindly translated into Thai – many thanks to Lady Thongdee for working through the night to do it. You can read it below.

นี่คือคำแปลจากบทความที่ผมเขียนให้กับนิตยสาร Foreign Policy

เสื้อแดงและความโกลาหลของเจ้า

เมื่อความลับจากเคเบิลวิกิลีคส์อธิบายว่าประเทศไทยกลายสภาพจากเมืองสวรรค์เป็นนรกภูมิทางการเมืองได้อย่างไร

โดย แอนดรูว แม็คเกรเกอร์ มาร์เชล

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเป็นแสงสว่างแห่งประชาธิปไตยและความก้าวหน้าท่ามกลางภูมิภาคที่ยังติดหล่มอยู่ในระบอบอำนาจนิยมอันน่าฉงน ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสามคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ยังคงพลัดหลงอยู่ในอดีตและไกลเกินกว่าความเป็นอิสระ  ประเทศที่สี่อย่างมาเลเซีย คือรัฐที่ยังแยกเหยียดทางสู่การศึกษาและการงานด้วยเรื่องเชื้อชาติ ประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะประเทศผู้นำแห่งกลุ่มอาเซียน และเป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่นที่ต้องการดำเนินรอยตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ช่างน่าเศร้าสลด เมื่อทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ประเทศไทยกำลังถอยหลังเข้าคลองสู่ระบอบอำนาจนิยม ลัทธินิยมทหาร และการปิดกั้น จนดูราวกับว่าการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม นี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ การเลือกตั้งที่ไม่ว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะ ประชาชนไทยก็ยังคงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

บนฉากหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการสู้รบโดยตรงระหว่างพรรคประชาธิปปัตย์ในตำแหน่งรัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพรรคเพื่อไทยในการนำอย่างเป็นทางการของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีนักธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ผู้ซึ่งยังเป็นตัวการสำคัญในวิกฤตการณ์ของไทย การเดิมพันมีมากกว่าว่าใครจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า การเลือกตั้งหนนี้คือการปะทะครั้งล่าสุดของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานบนดุลย์อำนาจระหว่างนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง กองทัพ และสถาบันกษัตริย์ ณ จุดนี้ ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองตัวแทนของทักษิณจะเป็นฝ่ายชนะ ขณะที่พระราชินีสิริกิติ์ พระมเหสีอ่ายุ 78 ปี ผู้หมางเมินต่อในหลวงภูมิพลอันเป็นที่รักของปวงชนคงจะทำทุกอย่างเพื่อบ่อนทำลายสิ่งนี้

เพื่อทำความเข้าใจต่อการแข่งขันของการเลือกตั้ง จะต้องพิจารณาจากบริบทการต่อสู้ของทุกชนชั้นบนความขัดแย้งหลากหลายระดับในสังคมไทยช่วงวาระใกล้สุดท้ายแห่งรัชสมัยของในหลวงภูมิพล หมากหลักของความขัดแย้งต่าง ๆ สถิตอยู่ภายในใจกลางพระราชวัง เนื่องด้วยประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงที่สุดในโลก ไม่ว่าเหตุอันใดที่ถูกพิจารณาว่าหมิ่นหยามเกียรติพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์มกุฎราชกุมาร จะต้องถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี ข้อถกเถียงต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในไทยกลายเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย การบิดพลิกแพลง/แปลงคำและกลบเกลื่อนด้วยคำใบ้ถูกนำมาใช้โดยสื่อเพื่อเสนอข่าวต่อเรื่องราวเหล่านี้ โดยหลักการ ประเทศไทยมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกษัตริย์มีพระราชอำนาจอย่างเป็นทางการเพียงน้อยนิด แต่ในภาวะวิกฤตขั้นร้ายแรงอาจสามารถใช้หลักคุณธรรมเพื่อเข้าแทรกแซงอันจะช่วยปกป้องประเทศให้พ้นจากหายนะ ทว่าโดยทางปฏิบัติ ฝ่ายวังยุ่งเกี่ยวและเข้าแทรกแซงการเมืองอย่างต่อเนื่องโดยมักผ่านเครือข่ายฝ่ายนิยมกษัตริย์ผู้จงรักภักดี ทั้งนี้ก็เพื่ออำพรางบทบาทของตน การอธิบายการเมืองไทยโดยไม่อ้างอิงถึงบทบาทของฝ่ายวัง ก็เปรียบกับการอธิบายหายนะไททานิคโดยไม่ได้เอ่ยถึงเรือ เช่นที่ ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวไทยที่โดดเด่นคนหนึ่ง เขียนลงในคอลัมน์ของเดือนนี้ว่า: “‘มือที่มองไม่เห็น’ ‘อำนาจพิเศษ’ ‘พลังที่ไม่สามารถต้านทานได้’ คำเหล่านี้ถูกเอ่ยถึงถี่ขึ้นในช่วงหลังทั้งจากบุคคลทั่วไป นักการเมือง และสื่อมวลชน เมื่อถึงคราวต้องวิจารณ์การเมืองไทย วาระเลือกตั้งอันใกล้ และสิ่งที่อาจจะตามมาหลังจากนั้น”

ผมได้เข้าถึง “เคเบิลเกท” ฐานข้อมูลการสื่อสารทางการฑูตของสหรัฐอเมริกา ด้วยตำแหน่งงานในฐานะบรรณาธิการอาวุโสของรอยเตอร์เมื่อสองสามเดือนก่อนหน้า ฐานข้อมูลซึ่งเชื่อว่าถูกปล่อยให้รั่วไหลออกมาโดยเบรดลีย์ แมนนิ่ง ทหารอเมริกัน ได้พลิกโฉมความเข้าใจที่มีต่อประเทศไทยในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เนื่องด้วยแตกต่างจากบทความตีพิมพ์ส่วนใหญ่โดยสื่อมวลชนและนักวิชาการภายในประเทศ ซึ่งเคเบิลเกทไม่มีการสงวนท่าทีหรือถ้อยคำเมื่อพาดพิงถึงราชวงศ์ ครั้นผมเริ่มเขียนบทความขนาดยาวเกี่ยวกับเคเบิล จึงนับเป็นการละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ ครั้งมโหฬาร ที่จะไม่สามารถตีพิมพ์ในนามของรอยเตอร์ได้ ซ้ำผมจะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้อีกเป็นเวลานาน แล้ววผมก็ตัดสินใจตีพิมพ์บทความด้วยการลาออกจากรอยเตอร์ในวันที่ 3 มิถุนายน  เพื่อที่จะกลายเป็นเป็นอาชญากรของประเทศไทยจากการรายงานข้อมูลในเคเบิลที่สมควรจะถูกพูดถึงต่อความไร้เสรีภาพของข้อมูลข่าวสารซึ่งกดกักการโต้เถียงสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยไว้

ความขัดแย้งของอำนาจสองขั้วซึ่งเกี่ยวโยงอยู่กับวังคือหัวใจหลักของวิกฤตการณ์ในประเทศไทย ประการแรกคือการสู้รบกรณีสืบทอดราชสมบัติ ในหลวงภูมิพลซึ่งมีอายุ 83 ปี พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 และปฏิเสธที่จะกลับไปยังพระราชวังโดยปราศจากคำอธิบาย แม้ว่าแพทย์จะแถลงว่าสภาพร่างกายเขาดีเพียงพอที่จะทำเช่นนั้นได้ จากเคเบิลโดยเอกอัครราชฑูตสหรัฐ เอริค จี. จอห์น กล่าวถึงในหลวงว่า “จากรายงานหลายกระแส ท่านป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า และปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง” วาระใกล้สิ้นสุดรัชกาลได้จุดให้เกิดภาวะตึงเครียดขั้นรุนแรงภายในชาติ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ลูกชายและรัชทายาทของในหลวงภูมิพล มีวีรกรรมเกี่ยวกับการเป็นคนเจ้าชู้ที่รุนแรงและฉ้อฉล วิดีโอชิ้นหนึ่งซึ่งกลายเป็นที่รู้จักกันดีและส่งต่อกันอย่างกว้างขวาง บันทึกงานวันเกิดของฟู ฟู สุนัขพุดเดิ้ลซึ่งมียศพลอากาศเอก ภายในวิดีโอ หม่อมศรีรัศมิ์ภรรยาคนที่สามของเจ้าฟ้าชายสวมใส่เพียงกางเกงในตั๋วจิ๋ว รับประทานเค้กวันเกิดของสุนัขบนพื้นขณะที่บรรดาข้าราชบริพารจ้องมองอยู่ คนไทยหวาดกลัวต่อโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์ของเจ้าฟ้าชาย ขณะเดียวกันก็มีแรงสนับสนุนเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร น้องสาวของเขาอย่างท่วมท้น แต่ในหลวงก็มิได้ส่งสัญญาณอันใดที่จะแสดงให้เห็นว่าบัลลงก์จะตกเป็นของลูกสาวที่ชาวไทยขนานนามว่าเป็น “เจ้าหญิงผู้แสนดี” ทั้งการตัดสินใจเช่นนี้จะถือเป็นการหักหน้าธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนักที่มีมาหลายศตวรรษ

ช่างน่ากระอักกระอ่วน เมื่อบรรดาผู้นิยมเจ้าอย่างเต็มตัวส่วนใหญ่ของไทยกลับเป็นศัตรูตัวฉกาจของเจ้าชาย ด้วยความกลัวที่ว่าพระองค์จะทำลายเศษเสี้ยวของความน่านับถือต่อระบบ ซ้ำร้ายพวกกาเขายังเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าพระองค์เป็นพันธมิตรในแบบหนึ่งกับศัตรูสำคัญอย่างทักษิณ ด้วยเหตุผลนี้ บรรดาผู้นิยมกษัตริย์จำนวนมากจึงสนับสนุนพระราชินีสิริกิติ์โดยหวังว่าท่านจะสามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนหลังจากในหลวงภูมิพลสิ้นลง เท่ากับสามารถควบคุมความประพฤติของลูกชายอย่างองค์มกุฎราชกุมารวชิราลงกรณ์ พระราชินีสิริกิติ์นำตัวเองมาอยู่ในในจุดที่เหมาะสมที่สุดเพื่อจะทำสิ่งนี้ โดยเฉพาะการที่มีสาวกอย่างประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
แต่ราชินีก็ไม่ได้ต่างจากลูกชายที่มีทั้งคนรักและคนชังจำนวนมาก เธอเกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวของ “เสื้อเหลือง” โดยการสนับสนุนการโค่นล้มทักษิณและรัฐบาลที่สืบต่อมาทีอยู่ฝ่ายเดียวกัน การตัดสินใจเข้าร่วมงานศพหญิงสาวเสื้อเหลืองซึ่งเสียชีวิตจากการปะทะกับตำรวจบนท้องถนนในปี 2551 จุดชนวนการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ต่อความเชื่อก่อนหน้าว่าฝ่ายวังนั้นดำรงตนอยู่เหนือการเมือง พระราชินีสิริกิติ์เคยเป็นผู้หนุนหลังลูกชายซึ่งถูกเกลียดชังด้วยการขนานนามว่าเป็น “แกะดำ” แต่ภายหลังการมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง ดูเหมือนว่าเธอกำลังจัดเตรียมทางไปสู่ราชบัลลังก์เพื่อตัวเธอเอง ซึ่งแน่ว่าอาจส่งผลกลายความขัดแย้งอันรุนแรงในไทย ด้วยการประจันหน้ากันของกองทัพฝ่ายสนับสนุนพระราชินีกับฝ่ายที่ไม่พอใจต่ออิทธิพลของเธอ

นอกจากความขัดแย้งภายในวังต่อกรณีผู้สืบทอด ยังมีการกระทบกระทั่งระหว่างฝ่ายวัง กองทัพ และรัฐบาล ในกรณีการขึ้นครองราชย์อันจะชี้ชะตากรรมของประเทศไทย กองทัพคือแรงผลักดันสำคัญต่อการเมืองไทย ทั้งยังเป็นพันธมิตรกับฝ่ายเจ้า จริงแล้วนักการเมืองที่มีจากการเลือกตั้งกลับมีอำนาจเพียงน้อยนิด แต่ทักษิณได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ การขึ้นมามีอำนาจกระทั่งถูกขับไล่ออกไปในปี 2549 จุดชนวนความขัดแย้งระดับชาติซึ่งยิ่งทำให้การสืบทอดราชอำนาจมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ทักษิณได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้งในปี 2544  และปี 2548 และจัดวางอำนาจในลักษณะของการบริหารงานประเทศแบบซีอีโอ เขาฉ้อโกงอย่างร้ายกาจและมีเวลาให้กับประชาธิปตยเพียงน้อยนิด แต่ได้ส่งต่อผลประโยชน์ที่แท้จริง โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ยากจน ซึ่งทำให้เกิดความนิยมอย่างกว้างขวางและยาวนาน เมื่อทักษิณแหกกฎที่ไม่ได้ร่างไว้ว่านักการเมืองต้องบริหารจัดการภายในอาณาเขตเล็ก ๆ และคงอำนาจที่แท้จริงให้แก่เหล่าบรรดาเสนาอำมาตย์ที่ขึ้นกษัตริย์ ทักษิณกลายเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของวัง สถาบันจึงแน่วแน่ที่จะป้องกันไม่ให้ทักษิณกลับมามีอำนาจ

ความขัดแย้งอื่น ๆ แทรกซึมอยู่ในรากฐานของความขัดแย้งหลักที่กล่าวข้างต้น วิกฤติการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวข้องกับปัญหาชนชั้นในสังคมที่มีการจัดลำดับสถานะอย่างชัดเจน บรรดาผู้ยากไร้ทั้งในเมืองและชนบทสนับสนุนทักษิณ ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการให้ “ปวงชนที่ไร้การศึกษา” มาตัดสินว่าใครจะเป็นผู้บริหารประเทศ ความขัดแย้งยังครอบคลุมถึงมิติทางภูมิภาค ทักษิณได้รับความนิยมมากในภาคเหนือและภาคอีสานอันแร้นแค้น ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์รักษาฐานอันมั่นคงยาวนานในภาคใต้ของประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาของวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ตรงกัน ระหว่างแนวคิดทุนนิยมแบบประชานิยมและระบบอุปถัมภ์ที่ทักษิณสนับสนุน และทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงภูมิพล ในระดับที่ลึกซึ้งที่สุด ความขัดแย้งทั้งหมดโยงกลับมาที่คำถามเดียว “ความเป็นไทยหมายถึงอะไร” มันหมายความว่าสังคมไทยคือสังคมที่สักการะบูชาผู้มีอำนาจและราชวงศ์โดยไม่ตั้งคำถาม หรือสังคมที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย

นอกจากประเทศไทยจะเป็นแหล่งยุทธศาสตร์และศูนย์กลางการคมนาคมในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ยังเป็นเหมือนสนามรบในทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกาและจีน สหรัฐอเมริกามีเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนกองทัพไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสัมพันธ์ก่อเกิดขึ้นระหว่างช่วงสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภาคพื้นอินโดจีน นักการทูตสหรัฐมองว่าทักษิณพร้อมที่จะไปอยู่ข้างฝ่ายจีน แม้ว่าเขาจะจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและกล่าวว่าตนเองเป็นมิตรกับอเมริกา ฝ่ายจีนเองเริ่มผูกสัมพันธ์กับกองทัพไทย นักวิเคราะห์บางท่านมองว่าปัญหาการสืบทอดราชสมบัติอยู่ในกรอบของภูมิรัฐศาสตร์ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพูดภาษาแมนดารินได้คล่องแคล่ว แถมยังสนิทชิดเชทื้อกับรัฐบาลจีน ทางการจีนได้สร้างวังนอกเมืองปักกิ่งเพื่อให้เธอพำนักระหว่างการเยี่ยมเยือนจีนที่บ่อยครั้ง ขณะที่เจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์กลับเป็นหายนะทางการทูต แผนการไปเยือนประเทศจีนเมื่อปี 2550 ถูกยกเลิกเนื่องจากการร้องขอเกี่ยวกับการดูแลแบบพิเศษที่มากมายไร้เหตุผล ส่วนพระราชินีสิริกิติ์ก็เป็นชาตินิยมตัวจริงที่ไม่ไว้ใจอิทธิพลภายนอก

ประเด็นปัญหาหนึ่งปรากฎขึ้นแจ่มแจ้งในเคเบิลของทางการสหรัฐ นั่นคือการที่สมาชิกระดับผู้นำของสถาบันในไทยไม่ได้เพียงแค่เกลียดทักษิณ แต่พวกเขาถึงขั้นหวาดกลัวในความเป็นไปได้ที่ทักษิณจะกลับมาทวงอำนาจและเปิดฉากแก้แค้นบรรดาพวกที่เล่นงานเขา ยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์ที่กษัตริย์ไทยทั้งป่วยและชราภาพ กลุ่มนิยมเจ้าไม่ต้องการเสี่ยงให้พรรคการเมืองที่เป็นพวกทักษิณเข้ามามีอำนาจหลังจากที่กษัตริย์ไทยสวรรคต  เพราะนั่นจะทำทักษิณและพวกได้เปรียบอย่างมหาศาลในการเล่นเกมการสืบราชสมบัติ ด้วยเหตุผลต่างๆที่ว่า ถ้ายิ่งลักษณ์ น้องสาวของทักษิณ ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวโน้มว่าเธอคงไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้นาน กลุ่มอำมาตย์น่าจะหันไปใช้บริการความรุนแรงของม๊อบเสื้อเหลือง การแทรกแซงระบบยุติธรรม หรือแม้กระทั่งทำรัฐประหารอีกครั้งเพื่อเขี่ยเธอให้พ้นตำแหน่ง หากเป็นจริงนั่นจะยิ่งทำให้ประเทศไทยแตกหักมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี หากพรรคประชาธิปัตย์รักษาอำนาจไว้ได้หลังการเลือกตั้ง นั่นก็จะไม่ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งของไทยเช่นกัน ตามโพลแล้วพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเข้ามาเป็นที่สองแน่ๆ และหากต้องการตั้งรัฐบาล ประชาธิปัตย์ต้องจับมือกับพรรคภูมิใจไทยของนายเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองที่ได้ชื่อว่าอันตรายและฉ้อฉลในระดับหัวแถวของบรรดานักการเมืองไทยที่มาตรฐานต่ำเป็นทุนอยู่แล้ว คนไทยจำนวนมากรู้สึกว่าความหวังทางการเมืองของพวกเขาซึ่งจะถูกแสดงออกโดยวิถีประชาธิปไตยในการหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งนี้ กำลังจะถูกละเลยอีกครั้งจากกลุ่มอำมาตย์ และความทุกข์ระทมของชาติไทยจะยังดำเนินต่อไป

การต่อสู้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ นั่นคือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่เชื่อว่าควรจะมีการถกเถียงเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์และอำนาจของฝ่ายทหารอย่างเปิดเผยและอิสระในสังคมไทยแห่งศตวรรษที่ 21 กับกลุ่มที่ต้องการปิดกั้นและทำให้การถกเถียงที่ว่าเป็นอาชญากรรม เคเบิลที่รั่วไหลออกมาแสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่าในหลวงภูมิพลอยู่ในกลุ่มแรกที่เชื่อว่าการถกเถียงควรเกิดขึ้น ในขณะที่พระราชินีและกองทัพคัดค้านความคิดนั้นอย่างรุนแรง พวกเขาดูราวกับจะไม่สามารถตระหนักได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเท่ากับการยืนขวางคลื่นแห่งประวัติศาสตร์ที่กำลังซัดสาดและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พวกเขาไม่สามารถห้ามคนไทยไม่ให้รับข้อมูลข่าวสารในระดับบุคคลได้ และถ้าพวกเขาทำให้การถกเถียงในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมายและดึงดันจะไม่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลง ผลที่ตามมาอาจหมายถึงความรุนแรงและการสิ้นสุดของราชวงศ์จักรี มีเพียงแค่การพูดคุยถกเถียงและการรอมชอมเท่านั้นที่จะสามารถปกป้องประเทศไทยจากความขัดแย้งที่จะตามมาอีก นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เห็นว่าเคเบิลที่รั่วไหลออกมาเป็นสิ่งที่มีค่า หากมันสามารถช่วยกำจัดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สิ้นซากและก่อให้เกิดการถกเถียง นั่นจะเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อชาติอันหยิ่งทนงแต่กำลังวุ่นวายแห่งนี้

Comments are closed.