A Thai protester on the first anniversary of Hiro's death, April 10, 2011

ความทรงจำต่อฮีโร่ มูราโมโตะ



Many thanks to Prachatai for the translation, which can also be seen here. Original English-language version is here.

เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ช่างภาพรอยเตอร์ส ฮิโรยูกิ มุราโมโตะ (1) ถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังถ่ายภาพการปะทะระหว่างทหารไทย ผู้ประท้วงเสื้อแดงและมือปืนไม่ทราบฝ่ายในพื้นที่บริเวณราชดำเนินใจกลางกรุงเทพมหานคร ฮิโรยูกิอายุ 43 ปี เขาทิ้งภริยา เอมิโกะ กับลูกสองคนไว้ข้างหลัง (2) ฮิโรยูกิเริ่มร่วมงานกับสำนักข่าวรอยเตอร์สในฐานะช่างภาพอิสระเมื่อ พ.ศ.2535 และทำงานเต็มเวลาใน พ.ศ.2538 คลิปข่าวชุดสุดท้ายที่เขาถ่ายก่อนเสียชีวิต (3) แสดงให้เห็นว่า เขาอยู่ท่ามกลางการปะทะอย่างดุเดือด (4) ในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งในวันนั้นมีทหาร 5 นายและประชาชนอีก 20 รายเสียชีวิต เหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาถ่ายไว้ได้นั้น รวมไปถึงการยิงระเบิดปริศนาที่ทำให้พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรมเสียชีวิต พันเอกร่มเกล้าเป็นนายทหารที่กำลังรุ่งในตำแหน่งหน้าที่และเป็นรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระราชินี

นับแต่เริ่มต้น หลักฐานเกี่ยวกับการเสียชีวิตของฮิโรยูกิชี้ว่า เขาถูกฆ่าจากกระสุนที่ทหารไทยคนหนึ่งยิงใส่ ดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ที่เขาตกเป็นเป้าโดยเจตนา ทั้งนี้เพราะเขาเป็นผู้สื่อข่าว แต่เขาถูกยิงเสียชีวิตในขณะที่ทหารสาดลูกกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงอย่างไม่เลือกหน้า นี่คือข้อสรุปของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เทียบได้กับเอฟบีไอของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้เป็นสถาบันที่ถูกการเมืองแทรกแซงอย่างเปิดเผย แต่ดีเอสไอก็ยังมีเจ้าหน้าที่สืบสวนที่ซื่อตรงและทุ่มเทให้การทำงานไม่น้อย เจ้าหน้าที่สืบสวนในคดีของฮิโรยูกิสรุปว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ฮิโรยูกิถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารกองทัพไทยคนหนึ่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ยอมรับประเด็นนี้ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 (5) ว่า

เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกี่ยวข้องด้วย เราจึงต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการส่งคดีนี้ให้ตำรวจสืบสวนต่อไป

ในเดือนธันวาคม รายงานการสอบสวนของดีเอสไอในคดีฮิโรยูกิและรายงานอีกฉบับเกี่ยวกับการสังหารพลเรือน 6 คนในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 รั่วไหลไปถึงรอยเตอร์ส (6) เอกสารเกี่ยวกับคดีฮิโรยูกิที่รั่วไหลออกมานี้ ยืนยันข้อสรุปของดีเอสไอว่า กองทัพไทยน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขา และคดีนี้ถูกส่งต่อไปให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนต่อไป แต่อธิบดีธาริตกลับปฏิเสธต่อสื่อมวลชนไทยว่า เอกสารเหล่านี้ไม่ใช่ของจริง ทว่าในการสนทนากับรอยเตอร์ส เขายอมรับว่าเอกสารเหล่านี้เป็นของจริง แต่เป็นการสอบสวนเบื้องต้นเท่านั้น

ตามมาตรฐานของรอยเตอร์ส เมื่อสมาชิกในคณะทำงานคนใดเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ รอยเตอร์สจะมอบหมายให้บริษัทความปลอดภัยที่เป็นมืออาชีพเข้ามาดำเนินการสอบสวนโดยอิสระ บริษัทเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างเป็นบริษัทชั้นนำในด้านนี้ การสืบสวนกระทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ รายงานของพวกเขาสรุปออกมาเหมือนกันว่า ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากกระสุนที่ทหารไทยผู้หนึ่งเป็นคนยิง โดยที่ไม่น่าจงใจเล็งเป้ามาที่เขา รายงานนี้ยังเสริมด้วยว่า กระสุนที่ฆ่าฮิโรยูกิน่าจะเป็นกระสุนมาตรฐานที่ใช้ในกองทัพไทย ไม่ใช่กระสุนปืน AK47 หรือปืนพก รายงานฉบับนี้ถูกเก็บเป็นความลับภายในฝ่ายบริหารของสำนักข่าวรอยเตอร์ส แต่ผมได้รับทราบผลลัพธ์การสืบสวนที่เป็นประเด็นสำคัญๆ

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเริ่มยืนยันว่า พวกเขาพบหลักฐานใหม่ (7) ว่า ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากกระสุนปืน AK47 และหลักฐานนี้ทำให้กองทัพไทยพ้นผิด

พนักงานสอบสวนของไทยสรุปว่า กระสุนปลิดชีวิตคือ กระสุนจากปืนขนาดลำกล้อง 7.62 มม. ส่วนทหารไทยใช้ปืนไรเฟิลเอ็ม-16 ซึ่งยิงกระสุนขนาด 5.56 มม. อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

“ลูกกระสุนที่ยิงมุราโมโตะคือกระสุน 7.62 มม. ไม่ใช่กระสุนปืนเอ็ม-16 ที่ทหารใช้” ธาริตกล่าว “มันอาจจะเป็นกระสุนปืน AK47 หรืออย่างอื่นที่คล้ายๆ กัน…..แต่ใครเป็นคนยิงเขานั้น ผมไม่สามารถตอบได้ในจุดนี้ เราจำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม”

เรื่องที่น่าตกใจก็คือ เป็นที่ทราบกันในภายหลังว่า ข้อสรุปนี้ได้มาจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว นั่นคือ นายตำรวจเกษียณ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา ซึ่งได้ข้อสรุปนี้มาจากการดูเพียงแค่รูปถ่ายบาดแผลบนร่างกายของฮิโรยูกิเท่านั้น ดังที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า (8)

อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของดีเอสไอ ได้พิจารณารายงานการชันสูตรพลิกศพช่างภาพ และให้ความคิดเห็นว่า ช่างภาพน่าจะเสียชีวิตจากปืนไรเฟิล AK47

นายธาริตและพลตำรวจโทอัมพรจะพบผู้สื่อข่าววันนี้เพื่อเสนอผลการสืบสวนของคณะกรรมการ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายมุราโมโตะและประชาชนคนอื่นอีก 10 รายซึ่งเสียชีวิตในการปะทะบนท้องถนน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถึงแม้พลตำรวจโทอัมพรให้คำแนะนำแก่ดีเอสไอก็ตาม แต่เขาไม่ได้อยู่ในคณะชันสูตรพลิกศพเพื่อระบุสาเหตุการตายของมุราโมโตะ เนื่องจากตอนนั้นเขาอยู่ต่างประเทศ

พลตำรวจโทอัมพรวิเคราะห์สาเหตุการตายของมุราโมโตะจากภาพถ่ายรอยแผลบนร่างกายเพียงอย่างเดียว และสรุปว่าบาดแผลนั้นเกิดจากปืนไรเฟิล AK47

ยิ่งกว่านั้น การกลับลำแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวแพร่ออกมาว่า ผู้บัญชาการทหารบกสายเหยี่ยว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ไปพบนายธาริต อธิบดีดีเอสไอ เพื่อต่อว่าต่อขานเกี่ยวกับข้อสรุปที่ระบุไว้ในรายงานเบื้องต้น กองทัพไทยยืนกรานกระต่ายขาเดียว (9) –อย่างพิลึกพิสดารและไม่น่าเชื่อถือ—เลยว่า กองทัพไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการตาย ของประชาชนคนใดหรือแม้แต่การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการปะทะกันอย่างรุนแรงในกรุงเทพในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทั้งๆ ที่มีหลักฐานมากมายชี้ไปในทางตรงกันข้าม ประเด็นนี้มีรายงานไว้ในบางกอกโพสต์เช่นกัน (10)

กองทัพถอนใจอย่างโล่งอก หลังจากรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปว่า กองทัพไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของช่างภาพญี่ปุ่นระหว่างการประท้วงของเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กองทัพอาจโล่งอกได้ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ดังที่มีกระแสข่าวว่า ผู้บัญชาการทหารบกเดินทางไปสำนักงานใหญ่ของดีเอสไอ เพื่อแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับผลสอบสวนเบื้องต้น ซึ่งได้ข้อสรุปไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ทหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของช่างภาพญี่ปุน นายฮิโรยูกิยูกิ มุราโมโตะ ระหว่างการประท้วงที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายน ศกก่อน

ดีเอสไอคงจะต้องเผชิญคำถามว่า ทำไมจึงกลับลำเช่นนี้ ถึงแม้เมื่อวานนี้ อธิบดีดีเอสไอ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ยืนยันตามรายงานฉบับล่าสุด โดยกล่าวว่า รายงานนี้วางอยู่บนผลการสอบสวนที่เป็นวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ เขาปฏิเสธด้วยว่าไม่มีการพบปะกับผู้บัญชาการทหารบก

รายงานเกี่ยวกับอาวุธ ซึ่งเขาไม่ได้เผยแพร่ออกมา ระบุว่าช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ถูกยิงเสียชีวิตด้วยปืนไรเฟิล AK47 ขณะทำข่าวการปะทะ

หากเป็นเช่นนั้นตามรายงาน กองทัพก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความตายที่เกิดขึ้น เพราะทหารถืออาวุธแตกต่างออกไป

นายธาริตกล่าวว่า บาดแผลบนร่างของมุราโมโตะมีลักษณะแบบที่เกิดจากกระสุน AK-47 เขากล่าวว่าทหารไม่ได้ใช้อาวุธแบบนั้น

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้รายงานคำพูดของพลตำรวจโทอัมพรและนายธาริตระหว่างการแถลงข่าวด้วย (11) ซึ่งพลตำรวจโทอัมพรอ้างว่าสามารถพิสูจน์ลักษณะของกระสุนที่ฆ่าฮิโรยูกิได้ง่ายๆ—ด้วยการดูจากรูปถ่ายเท่านั้น

จริงหรือที่บาดแผลของเหยื่อคนเสื้อแดงมีลักษณะร้ายแรงมาก จนเจ้าหน้าที่นิติเวชศาสตร์ไม่สามารถระบุประเภทของอาวุธปืนที่ใช้สังหารพวกเขา?

พล.ต.ท.อัมพร: เราสามารถระบุได้ในบางกรณี มีหลายกรณีที่เราระบุไม่ได้

ทำไมจึงใช้เวลานานเกือบปีในการระบุประเภทของอาวุธปืน?

พล.ต.ท.อัมพร: ผมก็ไม่ทราบ ตัวผมเองสามารถคาดเดาได้ในเวลาแค่ชั่วโมงเดียว

คุณสามารถอธิบายได้ไหมว่า ทำไมในการตรวจสอบครั้งแรก จึงไม่มีการเอ่ยถึงปืนไรเฟิล AK-47 เลย?

พล.ต.ท.อัมพร: ดีเอสไอไม่เคยระบุประเภทของอาวุธปืน เรามีพยานที่อ้างว่ายืนอยู่ใกล้คุณมุราโมโตะ เขาเห็นช่างภาพถูกยิง แต่ไม่รู้ว่ากระสุนมาจากไหน เขาเชื่อว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝ่ายทหาร ดีเอสไอมีพยานแค่คนเดียว ดังนั้น ดีเอสไอจึงทึกทักว่าการตายของคุณมุราโมโตะเกี่ยวพันกับทหาร จึงส่งคดีนี้ไปให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลพิสูจน์หลักฐานต่อ

บช.น.ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และรับทำคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล ดีเอสไอได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีคุณมุราโมโตะและส่งต่อไปให้ บช.น.

ทำไมรายงานของ พล.ต.ท.อัมพรจึงไม่มีอยู่ในรายงานการสอบสวนฉบับแรก

นายธาริต: เพราะการตรวจสอบลักษณะบาดแผลเกิดขึ้นหลังจากดีเอสไอส่งรายงานไปให้ บช.น.แล้ว

ทำไมจึงใช้เวลานานมาก?

นายธาริต: เราเพิ่งเชิญ พล.ต.ท.อัมพรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวน เพราะความเชี่ยวชาญของท่านจะช่วยให้การสอบสวนมีความถี่ถ้วนและครอบคลุมมากขึ้น

แล้วเหยื่อคนอื่นๆ ล่ะ? พวกเขาถูกฆ่าตายด้วยกระสุนประเภทเดียวกันหรือเปล่า?

พล.ต.ท.อัมพร: บาดแผลของรายอื่นมีขนาดเล็กกว่า เท่าที่ผมจำได้

คุณสามารถระบุประเภทของอาวุธปืนได้หรือไม่?

พล.ต.ท.อัมพร: ผมทำไม่ได้

มีบาดแผลคล้ายๆ กันบนร่างเหยื่อคนอื่นๆ หรือเปล่า

พล.ต.ท.อัมพร: เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยเห็น

กรณีของคุณมุราโมโตะแตกต่างออกไปใช่ไหม

พล.ต.ท.อัมพร: ใช่ครับ

คุณสามารถบอกจากลักษณะบาดแผลได้ไหมว่า กระสุนยิงมาจากข้างหน้าหรือจากข้างหลัง?

พล.ต.ท.อัมพร: กระสุนยิงมาจากข้างหน้า รูกระสุนเข้าอยู่ตรงหน้าอกข้างขวา รูกระสุนออกทะลุผ่านกระดูกสะบักหัวไหล่ขวา

รายงานวิถีกระสุนสามารถบอกได้หรือไม่ว่า กระสุนนั้นถูกยิงมาจากทหาร?

พล.ต.ท.อัมพร: บอกไม่ได้

มีการใช้ปืนเอสเคเอสคาร์ไบน์และ 05-Nato ในประเทศไทยหรือเปล่า?

พล.ต.ท.อัมพร: มีสิ มิฉะนั้นผมคงไม่เอ่ยถึงมัน

คณะกรรมการการป้องกันนักข่าว (Committee to Protect Journalists—CPJ) ได้ออกแถลงการณ์ (12) แสดงความกังวลว่ากำลังมีการฟอกความผิดให้ทหาร

“การที่ผลการสอบสวนเบื้องต้นในกรณีการตายของฮิโรยูกิ มุราโมโตะมีข้อสรุปที่ออกมาขัดแย้งกัน ทำให้เกิดคำถามต่อความเป็นอิสระของเจ้าพนักงานสืบสวนของรัฐบาล” เป็นคำกล่าวของชอว์น คริสปิน ตัวแทนอาวุโสประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CPJ “เรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อรายงานข่าวที่ออกมาว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคนหนึ่งเข้าไปกดดันดีเอสไอให้เซ็นเซอร์ผลการสอบสวนเบื้องต้น”

ในบรรดาคนที่ตั้งข้อกังขาต่อผลการสอบสวนครั้งใหม่ของดีเอสไอ (13) หนึ่งในนั้นคือรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน:

มันเป็นทฤษฎีของดีเอสไอ เป็นการดำเนินการ เป็นการสอบสวนและเป็นข้อสรุปของดีเอสไอเอง ตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย และผลการสอบสวนนี้ไม่ได้วางบนหลักฐานที่น่าเชื่อถือแม้แต่น้อย พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อสรุปมันมั่ว

เนื่องจากผมทราบผลการสอบสวนของฝ่ายที่สามที่รอยเตอร์สมอบหมายให้ดำเนินการ ซึ่งมีผลสรุปออกมาว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าฮิโรยูกิถูกยิงด้วยกระสุนที่ใช้ในกองทัพ ไม่ใช่กระสุนปืน AK47 ผมจึงส่งอีเมลไปถึงกองบรรณาธิการบริหารอาวุโสภาคพื้นเอเชีย เพื่อขออนุญาตนำผลการสอบสวนบางส่วนไปรายงานข่าว ผมไม่เคยได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการ แต่ได้รับคำบอกเล่าอย่างไม่เป็นทางการจากบรรณาธิการบริหารคนอื่นว่า บรรณาธิการบริหารภาคพื้นเอเชีย “ไม่พอใจมาก” ที่ผมเข้าไปยุ่ง ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่น่าวิตก ผมจึงติดต่อเป็นการส่วนตัวและเป็นความลับไปยังบรรณาธิการบริหารอาวุโสในสหรัฐอเมริกาเพื่อหารือข้อกังวลใจนี้

ในฐานะอดีตหัวหน้าสำนักข่าวรอยเตอร์สในแบกแดด และต่อมาได้รับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของรอยเตอร์สที่รับผิดชอบพื้นที่ตะวันออกกลางทั้งหมด ผมเคยมีส่วนร่วมโดยตรงในการสอบสวนของบริษัทเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมงาน 6 ราย ดังนี้

  • ตากล้องรอยเตอร์ส Mazen Dana (14) ถูกทหารสหรัฐฯคนหนึ่งสังหารที่หน้าคุกอาบูกราอิบทางตะวันตกของกรุงแบกแดด ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่ากล้องของเขาเป็นเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี เหตุเกิดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2003
  • Dhia Najm (15) ตากล้องอิสระที่ทำงานให้รอยเตอร์ส ถูกฆ่าในเมืองรามาดีของอิรักในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าผู้สังหารคือสไนเปอร์ของกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ
  • คนขับรถของรอยเตอร์ส Waleed Khaled (16) ถูกสังหารโดยกองทหารสหรัฐฯ ที่ระดมยิงใส่รถของเขาในพื้นที่ทางตะวันตกของกรุงแบกแดดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005
  • ช่างภาพของรอยเตอร์ส Namir Noor-Eldeen (17) และคนขับ Saeed Chmagh (18) เสียชีวิตเมื่อเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ของสหรัฐฯ ระดมยิงใส่ทั้งสองและชาวอิรักอื่นๆ อีกหลายคนในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงแบกแดดในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ความตายของพวกเขาถูกเผยแพร่ให้คนหลายล้านคนได้เห็นกับตา หลังจากวิกิลีกส์เผยแพร่คลิปวิดีโอของเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ (19) ซึ่งถ่ายจากกล้องบนเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่
  • ตากล้องรอยเตอร์ส Fadel Shana (20) ถูกสังหารในกาซ่าในเดือนเมษายน ค.ศ. 2008 จากระเบิดแบบขีปนาวุธสังหารที่ยิงจากรถถังอิสราเอลที่ห่างไปหนึ่งไมล์ ทหารในรถถังคงนึกว่ากล้องและขาตั้งของฟาเดลเป็นอาวุธบางอย่าง ฟาเดลถ่ายคลิปการยิงระเบิดจากรถถังที่ฆ่าตัวเขากับคนรอบข้างอีกหลายคนไว้ได้ (21)

นอกจากนี้ ผมเคยมีส่วนร่วมโดยตรงในการสอบสวนของรอยเตอร์สเกี่ยวกับการทรมานและการทารุณกรรมทางเพศที่ทหารสหรัฐฯ กระทำต่อเพื่อนร่วมงานชาวอิรักสามคน ในช่วงเวลาสามวันที่พวกเขาถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังในสถานที่ใกล้เมืองฟัลลูจาห์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2004 ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ผมมีประสบการณ์พอสมควรกับคดีสืบสวนที่ละเอียดอ่อนภายในสำนักข่าวรอยเตอร์ส ผมตระหนักดีถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อช่วยกันค้นหาความจริง ไม่ใช่สร้างความแตกแยกห่างเหินกันด้วยการโวยวายและกล่าวหาอย่างเกินกว่าเหตุ ผมยังตระหนักถึงความจำเป็นในการมีจุดยืนที่มั่นคง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ล้มเหลวในการสอบสวนอย่างโปร่งใสและซื่อตรง หัวใจสำคัญที่สุดในกระบวนการเหล่านี้ก็คือ เราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสืบหาความจริง เราไม่ประสงค์จะล่าแม่มดหรือกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยไร้หลักฐาน เป้าหมายของเราก็เช่นเดียวกับเป้าหมายในการเป็นสื่อมวลชนที่ดี นั่นคือ การแสวงหาความจริง ความจริงเท่านั้นที่จะนำไปสู่การรับผิดและความยุติธรรม

ควรบันทึกไว้ด้วยว่า ในทุกกรณีที่ผมมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างใกล้ชิดนั้น บรรณาธิการบริหารอาวุโสของรอยเตอร์สคอยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และกล้าหาญอย่างยิ่งเมื่อถึงคราจำเป็น

แต่ทุกอย่างแตกต่างออกไปในกรณีของฮิโรยูกิ ผมไม่สบายใจอย่างยิ่งที่ได้รับรู้จากคนในฝ่ายบริหารระดับสูงว่า ไม่เพียงแค่รอยเตอร์สไม่อนุญาตให้ผมรายงานข่าวผลการสอบสวนของฝ่ายที่สามที่รอยเตอร์สจ้างมาให้ทำงานนี้ แต่รอยเตอร์สไม่ยอมทำแม้กระทั่งแจ้งผลการสอบสวนนี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยทราบด้วยซ้ำไป จริงอยู่ บางครั้งมันมีความจำเป็นที่ต้องเก็บผลการสอบสวนในคดีที่ละเอียดอ่อนไว้เป็นความลับในระหว่างที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและ/หรือทหารตำรวจ บางครั้งการด่วนเผยแพร่สู่สาธารณชนเร็วเกินไปอาจทำให้คนที่เราต้องการร่วมมือด้วยเกิดความหมางใจต่อกัน แต่ในประสบการณ์ของผม นี่เป็นครั้งแรกและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่รอยเตอร์สไม่ยอมแม้แต่แจ้งผลการสอบสวนต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง มันทำให้รอยเตอร์สถูกกล่าวหาได้ว่า รอยเตอร์สบกพร่องต่อหน้าที่ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐค้นหาความจริง ผมส่งบันทึกที่เขียนอย่างละเอียดถึงฝ่ายบริหารระดับสูง เพื่ออธิบายว่าทำไมผมจึงคิดว่าพฤติกรรมของรอยเตอร์สในกรณีฮิโรยูกินั้น เป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อจรรยาบรรณและไม่สร้างสรรค์ หลังจากนั้น ผมได้รับทราบว่ามีการตัดสินใจให้แก้ไขรายงานการสอบสวนของฝ่ายที่สาม ลบชื่อบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการสอบสวน รวมทั้งลบชื่อของแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลทั้งหมดด้วย รายงานที่ถูกแก้ไขแล้วนี้จะถูกส่งให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นการลับ ผมเห็นว่าการทำเช่นนี้ยังมีข้อบกพร่องในหลายๆ ทาง แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และได้แต่รอความคืบหน้าต่อไป

ในวันที่ 24 มีนาคม กรมตำรวจไทยได้ “ยืนยัน” อย่างเป็นทางการ (22) ว่า ผลการสอบสวนครั้งใหม่ของดีเอสไอไม่พบหลักฐานว่าฮิโรยูกิถูกสังหารโดยน้ำมือของกองทัพไทย

วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตปีแรกของฮิโรยูกิ ก่อนหน้านั้นสองสามวัน บรรณาธิการบริหารภาคพื้นเอเชียของรอยเตอร์สส่งอีเมล์เวียนแก่คณะทำงานว่า จะมีการยืนไว้อาลัยแก่เขาเป็นเวลาหนึ่งนาที ผมเขียนกลับไปถามอีกครั้ง ในฐานะบรรณาธิการอาวุโสที่รับผิดชอบการนำเสนอข่าวการเมืองและข่าวทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ถามว่าผมสามารถรายงานข่าวได้ไหมว่า ถ้าพิจารณาจากหลักฐานที่รอยเตอร์สมีอยู่ ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐไทยกำลังโกหกในคดีของฮิโรยูกิ ผมได้รับคำตอบเกรี้ยวกราดกลับมา ในบรรดาเหตุผลหลายๆ ข้อที่รอยเตอร์สอ้างว่าไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลนี้ มีเหตุผลหนึ่งคือ ภายใต้กฎหมายไทย มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่รอยเตอร์สจ้างฝ่ายที่สามมาสอบสวนการตายของฮิโรยูกิ และตอนที่จ้างบริษัทข้างนอกมาดำเนินการสอบสวน รอยเตอร์สได้ทำข้อตกลงกับบริษัทนั้นว่าจะเก็บผลการสอบสวนไว้เป็นความลับ ผมไม่คิดว่านี่เป็นเหตุผลเพียงพอที่รอยเตอร์สจะเก็บงำผลการสอบสวนการตายของฮิโรยูกิเอาไว้เช่นนี้ และผมก็บอกฝ่ายบริหารไปตามที่ผมคิด

ในวันที่ 11 เมษายน ฝ่ายบริหารระดับสูงของรอยเตอร์สประจำภาคพื้นเอเชียได้เข้าพบอธิบดีดีเอสไอ นายธาริต ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในการสอบสวนคดีฮิโรยูกิ เรื่องที่อธิบายไม่ได้เลยก็คือ เหตุใดฝ่ายบริหารจึงไม่ยื่นผลการสอบสวนที่แก้ไขแล้วของรอยเตอร์สที่เตรียมไว้ให้แก่นายธาริต ผมได้รับทราบในภายหลังว่า มีการตัดสินใจที่จะยื่นผลการสอบสวนที่แก้ไขแล้วนี้ให้แก่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นการส่วนตัว ในการเข้าพบซึ่งยังไม่มีการยืนยันวันเวลาแน่นอน หนังสือบางกอกโพสต์รายงานการพบปะกับดีเอสไอ (23) ดังนี้

นายธาริตกล่าวว่า คณะสอบสวนของดีเอสไอได้อธิบายข้อเท็จจริงแวดล้อมทั้งหมดที่ได้จากการสอบสวนอย่างเป็นทางการต่อกรณีการเสียชีวิตของมุราโมโตะแก่ตัวแทนของสำนักข่าวรอยเตอร์สระหว่างการพบปะหารือเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง

เขากล่าวว่า เขาไม่ทราบว่าตัวแทนทั้งสองพอใจต่อคำอธิบายหรือไม่ และกล่าวว่าทั้งสองนิ่งเฉยและไม่ได้ให้เอกสารใดๆ เพิ่มเติมแก่ดีเอสไอ

“ผมเสนอต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สให้ช่วยค้นหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพิ่มเติม เพราะพยานที่รู้เห็นการสังหารครั้งนี้น่าจะกล้าให้ข้อมูลเชิงลึกแก่รอยเตอร์สมากกว่าให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่รัฐ [ไทย]” นายธาริตกล่าว

“หลังจากนั้น รอยเตอร์สสามารถแจ้งข้อมูล [ที่ได้มา] นี้แก่ดีเอสไอเพื่อทำการสอบสวนต่อไป”

ตัวแทนของรอยเตอร์สกล่าวว่า พวกเขาจะพิจารณาข้อเสนอของดีเอสไอและแจ้งกลับไปให้ทราบภายหลัง

พวกเขาจะสอบถามความคืบหน้าของคดีนี้เป็นครั้งคราวต่อไป นายธาริตกล่าว

บรรณาธิการบริหารของรอยเตอร์สปฏิเสธไม่ให้รายละเอียดใดๆ ของการหารือกันครั้งนี้ และออกแถลงการณ์เพียงแค่ว่า รอยเตอร์สได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของมุราโมโตะ

ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ผมลาออกจากสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน เพื่อตีพิมพ์งานเขียนขนาดยาวเกี่ยวกับประเทศไทย โดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารการทูตของสหรัฐฯ ที่รั่วไหลออกมาหลายพันฉบับ คุณสามารถอ่านงานเขียนนั้นได้ ที่นี่รอยเตอร์สตัดสินว่างานเขียนนี้เสี่ยงเกินไปที่จะตีพิมพ์ เนื่องจากรอยเตอร์สมีนักข่าวและคณะทำงานจำนวนมากอยู่ในประเทศไทย ดังที่ผมเขียนไว้ในงานชิ้นดังกล่าวและในบทความในหนังสือพิมพ์ The Independent (24) ผมเข้าใจดีที่รอยเตอร์สตัดสินใจเช่นนั้นและขอไม่วิจารณ์รอยเตอร์สในประเด็นนี้ การลาออกของผมทำให้ผมไม่สามารถกดดันกองบรรณาธิการรอยเตอร์สเกี่ยวกับคดีของฮิโรยูกิได้อีกต่อไป แต่ผมก็เฝ้ารอคำสัญญาที่รอยเตอร์สบอกว่าจะแจ้งข้อมูลของฝ่ายตนให้แก่นายกฯอภิสิทธิ์เมื่อใดที่ได้เข้าพบ

ในวันที่ 14 มิถุนายน รอยเตอร์สได้สัมภาษณ์นายกฯอภิสิทธิ์เป็นการเฉพาะ แต่พวกเขากลับไม่ได้มอบข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ดังนั้น บัดนี้ผมจะเปิดเผยข้อความสำคัญจากรายงานการสอบสวนของฝ่ายที่สามที่รอยเตอร์สได้มอบหมายให้ดำเนินการ ผมขอเก็บชื่อบริษัทที่ดำเนินการสอบสวนไว้เป็นความลับ รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ หากรอยเตอร์สต้องการโต้แย้งว่าข้อความที่ผมจะเปิดเผยนี้เป็นข้อความจากเอกสารจริงหรือไม่ ผมสามารถให้หลักฐานเอกสารที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ได้ ผมเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจและไม่มีความปรารถนาใดๆ ที่จะบ่อนทำลายสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งผมยังถือว่าเป็นองค์กรข่าวที่สมควรได้รับความนับถือ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ทำงานของเพื่อนร่วมงานและมิตรสหายของผมจำนวนมาก แต่เห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมที่ไร้สมรรถภาพ ไร้จรรยาบรรณและไม่สร้างสรรค์ของฝ่ายบริหารระดับสูงบางคนในเอเชีย จะทำให้รอยเตอร์สไม่มีทางค้นพบความจริงเกี่ยวกับการตายของฮิโรยูกิ นอกเสียจากจะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมหวังว่ารอยเตอร์สจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์นี้ และต่อไปข้างหน้าคงไม่มอบหมายอำนาจการตัดสินใจในเรื่องสำคัญเช่นนี้ให้แก่บุคคลที่ขาดความสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างมีสติและมีจรรยาบรรณในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน ครอบครัวและมิตรสหายของฮิโรยูกิ รวมทั้งคณะทำงานทุกคนของรอยเตอร์ส ควรได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้ ข้างล่างนี้คือข้อความที่คัดมาจากรายงานการสอบสวนของฝ่ายที่สาม มันคัดมาตรงตามตัวอักษร ยกเว้นการแก้ไขที่ระบุไว้ด้วยเครื่องหมาย xxxx ในเนื้อความ:

ฮิโรยูกิ มุราโมโตะ (‘ฮิโรยูกิ’) ถูกยิง ค่อนข้างแน่นอนว่าโดยกระสุนความเร็วสูงขนาด 5.56 มม. ในวันที่ 10 เมษายน ที่ถนนดินสอ ทางตะวันตกของกรุงเทพฯ ในเวลา 21:01/2 ตามเวลาท้องถิ่น

XXXXXXX ไม่สามารถดูรายงานการชันสูตรพลิกศพของทางการหรือการพิสูจน์ทางนิติเวชศาสตร์ใดๆ ที่กระทำต่อร่างของเขา อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ศัลแพทย์ที่ดูแลการจำแนกผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลกลางเมื่อวันที่ 10 เมษายน เขายืนยันว่า ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากแผลฉีกขาดที่ผนังอกทะลุเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอด (tension pneumothorax) พร้อมกับการตกเลือดภายในจำนวนมาก ศัลยแพทย์คาดว่าการเสียเลือดเช่นนั้นน่าจะทำให้เสียชีวิตภายในเวลาสองนาที เจ้าหน้าที่รถพยาบาลที่นำฮิโรยูกิส่งโรงพยาบาลยืนยันว่า พวกเขาไม่พบสัญญาณชีพ และแพทย์ที่ตรวจเขาที่โรงพยาบาลกลางระบุว่าเขา ‘เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล’

แผลรูกระสุนเข้าที่เป็นสาเหตุการตายของฮิโรยูกิมีจุดศูนย์กลางอยู่ใต้กระดูกไหปลาร้าและกระดูกโอบอกและตรงกับหัวใจ ศัลยแพทย์ที่ XXXXXXX สัมภาษณ์ยืนยันว่า บาดแผลมีลักษณะของบาดแผลที่เกิดจากกระสุน นอกจากนี้ ฮิโรยูกิมีแผลรูกระสุนออกที่ท้องแขนซ้าย การที่แผลรูกระสุนออกไม่เป็นแนวตรงเช่นนี้ มีลักษณะตรงกับผลกระทบที่เกิดจากกระสุนความเร็วสูงขนาด 5.56 มม. สแตนดาร์ดเนโต้ (และลักษณะบาดแผลไม่สอดคล้องกับกระสุนชนิดอื่นๆ อาทิ ปืนสั้น .38 กระสุนยาง หรือกระสุนจากปืนไรเฟิล AK47)

ถึงเวลาแล้วที่รอยเตอร์สควรเริ่มต้นดำเนินการเพื่อช่วยให้ความจริงเปิดเผยออกมา แทนที่จะสมคบกับการปิดบังความจริงไว้

อ้างอิง:

  1. http://www.reuters.com/video/2011/03/08/a-tribute-to-hiro-muramoto?videoId=193534208
  2. http://thomsonreuters.com/content/press_room/media/558479
  3. http://www.reuters.com/article/video/idUSTRE63B25A20100412?videoId=71024142
  4. http://www.reuters.com/article/2010/04/12/us-thailand-reuters-video-idUSTRE63B25A20100412
  5. http://www.reuters.com/article/2010/11/16/us-thailand-muramoto-idUSTRE6AF30920101116
  6. http://www.reuters.com/article/2010/12/10/us-thailand-security-idUSTRE6B90OR20101210
  7. http://www.reuters.com/article/2011/02/28/us-thailand-security-muramoto-idUSTRE71R3YC20110228
  8. http://www.bangkokpost.com/news/politics/223792/no-firm-view-on-ak-47-role-in-deaths
  9. http://asiancorrespondent.com/43962/thai-military-we-have-not-hurt-or-killed-any-reds/
  10. http://www.bangkokpost.com/news/politics/223658/dsi-changes-ruling-on-cameraman-death
  11. http://www.bangkokpost.com/news/politics/224006/mystery-shrouds-case-of-slain-cameraman
  12. http://www.cpj.org/2011/02/concerns-of-thai-whitewash-in-killing-of-reuters-m.php
  13. http://www.nationmultimedia.com/2011/03/03/national/Police-refute-DSI-finding-on-shot-cameraman-30149971.html
  14. http://www.thebaron.info/mazendana.html
  15. http://www.thebaron.info/dhianajim.html
  16. http://www.thebaron.info/waleedkhaled.html
  17. http://www.thebaron.info/namirnooreldeenandsaeedchmagh.html
  18. http://www.thebaron.info/namirnooreldeenandsaeedchmagh.html
  19. http://www.youtube.com/watch?v=to3Ymw8L6ZI
  20. http://www.thebaron.info/fadelshana.html
  21. http://www.youtube.com/watch?v=8yF0dK7BZIs
  22. http://www.reuters.com/article/2011/03/24/thailand-security-muramoto-idUSSGE72N03120110324
  23. http://www.bangkokpost.com/news/local/231536/reuters-help-sought-in-finding-evidence
  24. http://www.independent.co.uk/opinion/commentators/andrew-macgregor-marshall-why-i-decided-to-jeopardise-my-career-and-publish-secrets-2301363.html

15 Comments

  1. Congrat!! thank you for post.

  2. ใจจ้าเนื้อหาดีจัง ขอบคุณน้า

  3. ขอบใจจ้าเนื้อหาดีจัง ขอบคุณน้า

  4. ขอบคุณจ้าเนื้อหาดีจัง ขอบคุณน้า

  5. ขอบคุณครับ บทความคุณภาพจริงๆ

  6. เนื้อหาดีจัง ขอบคุณน้า

  7. แต๊งครับ บทความคุณภาพจริงๆ

  8. อืมๆเนื้อหาดีจัง ขอบคุณน้า

  9. เนื้อหาดีมากๆ เห็นด้วยเลย ขอบคุณครับ

  10. ขอบคุณครับ ขอ bookmark หน่อยนะครับจะกลับมาอ่านต่อทีหลัง

  11. ชอบเว็บนี้จัง อัพเดทข่าวสารตลอดเลยค่ะิ

  12. บทความมีประโยชน์มากเลยครับ ขอเซฟไปอ่านต่อนะครับ ขอบคุณครับ

  13. ขอบคุณสำหรับบทความดีดครับ ขอเอาไปอ่านต่อนะครับ

  14. เยี่ยมครับ ขอบคุณมากครับ ได้ไอเดียและความรู้ดีมาก

  15. ขอบคุณที่แชร์นะครับ เป็นประโยชน์มากๆเลย